เมืองกาญจน์ มิใช่มีแค่ที่เที่ยว อย่างเช่น สะพานแม่น้ำแคว น้ำตกไทรโยค ล่องแก่ง ล่องแพ หากวันนี้อยากแนะนำที่เที่ยวเชิงตามรอยประวัติศาสตร์ ณ อุทยานปราสาทเมืองสิงห์ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำแควน้อยอันมีทิวเขาล้อมรอบเป็นแนวยาว อีกทั้งยังมีผังเมืองรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กำแพงเมืองใช้วัสดุก่อด้วยศิลาแลง ประกอบด้วยเมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอมเป็นการผสมผสานกับศิลปะทวารวดี โดยฝีมือช่างพื้นเมืองซึ่งหยาบกว่าฝีมือช่างขอมที่ปราสาทบายนแห่งนครธม อาคารศิลปะขอมสร้างด้วยศิลาแลง อันมีปรางประธานอยู่ตรงกลาง โดยมีหลักฐานอันเก่าแก่ที่ได้มีการขุดค้นยังบริเวณริมแม่น้ำแควน้อย มีการพบหลุมฝังศพมนุษย์และเครื่องมือเครื่องใช้ที่ฝังร่วมกับศพ อาทิเช่น ภาชนะดินเผา ภาชนะสำริด ขวานสำริด ทัพพีสำริด กำไลสำริด ลูกปัดหินอะเกต กำไลหิน กำไลเปลือกหอย ฯลฯ อันคล้ายคลึงกับที่พบบ้านดอนตราเพชร จึงสันนิษฐานว่าอายุราวปลายยุคโลหะสมัยก่อนประวัติศาสตร์ น่าจะอายุประมาณ 2,000 ปี
จุดมุ่งหมายในการสร้างเพื่อเป็นพุทธศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ด้านสถาปัตยกรรมและประติมากรรมของที่นี่ มีลักษณะคล้ายกับปราสาทขอม สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1720-1780 ) สิ่งสำคัญที่พบในปราสาทแห่งนี้ คือ พระพุทธรูปนาคปรก พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตา สันนิษฐานว่าปราสาทหลังนี้น่าจะสร้างราวรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อันมีศิลาจารึกหลักหนึ่งที่พบที่ปราสาทพระขรรค์มีการสร้างขึ้นโดยเจ้าชายวีรกุมารพระราชโอรสของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มีการเอ่ยถึงชื่อเมือง 23 แห่งว่าเป็นที่ประดิษฐานพระชัยพุทธมหานาถ คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับเมืองสิงห์เพราะมีการระบุชื่อเมือง 6 เมือง คือ เมืองลโวทยปุระ คือ เมืองละโว้ หรือ ลพบุรี เมืองสุวรรณปุระ คือ สุพรรณบุรี เมืองชัยราชบุรี คือ ราชบุรี เมืองชัยวัชรบุรี คือ เพชรบุรี และ เมืองศรีชัยสิงหบุรี ก็คือ เมืองสิงห์ที่ตั้งปราสาทเมืองสิงห์ในกาญจนบุรี
สมัยรัตนโกสินทร์ในสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมืองสิงห์มีฐานะเป็นเมืองหน้าด่านเล็ก ๆ เท่านั้น ครั้นสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามสำหรับเจ้าเมืองสิงห์เป็น พระสมิงสิงห์บุรินทร์ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล เมืองสิงห์ถูกลดฐานะให้เหลือเป็นเพียงตำบลหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี
จุดเยี่ยมชมที่สำคัญ
โบราณสถานหมายเลข 1 คือ ปราสาทหลังใหญ่ ตรงกับประตูเมืองสิงห์ จะมีปรางค์ประธาน ระเบียงคด โคปุระ บรรณศาลาหรือบรรณาลัย และกำแพงแก้ว
โบราณสถานหมายเลข 2 คือ ปราสาทด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ติดกำแพงแก้ว จากการขุดแต่งโบราณสถานได้พบแท่นฐานประติมากรรมหินทรายเป็นจำนวนมาก และยังมีปรางค์ประธาน โคปุระ 4 ด้าน ด้วยสภาพซากปรักหักพังลงจำนวนมาก ทำให้มีการบรูณะได้น้อย
โบราณสถานหมายเลข 3 คือ อาคารขนาดเล็กที่ก่อตัวอิฐและศิลาแลง อยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ จากสิ่งก่อสร้างทำให้สันนิษฐานว่าเป็นเจดี 2 องค์ โดยฐานมีลักษณะเขียงสี่เหลี่ยม ชั้นล่างเป็นฐานปัทม์ 1 ชั้น (บัวคว่ำหงาย) ชั้นบนก่อศิลาแลง ส่วนฐานเจดีย์อีกองค์ใช้แลงก่อเป็นฐาน แต่มีสภาพชำรุดมาก
โบราณสถานหมายเลข 4 คือ ฐานโบราณสถานที่มีฐานอาคารคล้ายห้องแถว 4 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลงเป็นพื้นชั้นเดียวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งส่วนเรียงเป็นแถวแนวเหนือใต้ ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้างอาคาร และยังมีการบรูณะอยู่
เมืองสิงห์และปราสาทเมืองสิงห์ ได้ถูกประกาศขึ้นทะเบียนให้เป็นโบราณสถานแห่งชาติ โดยทางสำนักกรมศิลปากร ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2478 หลังจากนั้นมีการขุดและบรูณะอย่างสมบรูณ์ จึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดําเนินมาเป็นประธานในพิธีเปิด ในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2530 หากใครมีโอกาสมาเที่ยวเมืองกาญจน์ อย่าพลาดเยี่ยมชมอุทยานแห่งนี้ ซึ่งคุณจะได้สัมผัสกับอารยธรรมขอมพร้อมมนต์ขลัง ที่ควรค่าแก่การศึกษาและเป็นแหล่งความรู้นอกสถานที่อันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มาเยือนทุกคน สามารถเดินเที่ยวชม เก็บภาพสวย ๆ ได้หลากหลายมุม
หากสนใจอยากเที่ยวไปกับเรากับพวกเรา #GetawayHolidays ดูโปรแกรมนั่งรถไฟเที่ยวกาญจนบุรีที่น่าสนใจจากลิงก์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👇
อย่าลืม "กดแอดไลน์" เพื่อรับโปรโมชั่นรายการพิเศษก่อนใคร!
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
มิวเซียมไทยแลนด์
สำนักจัดการสิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรม
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่
コメント