top of page

เพชรบุรีดีจัง...เมืองมรดกทางศิลปวัฒนธรรม (Part 2)


ที่เที่ยวเพชรบุรี

จากครั้งที่แล้วที่เราเคยพูดถึงเมืองเพชรบุรี เพชรบุรีดีจัง...วังสวยสไตล์ยุโรปสุดคลาสสิค วัดใหญ่เก่าแก่จิตรกรรมสุดปราณีต ทุกท่านคงเห็นกันแล้วว่า เพชรบุรีไม่ได้มีแต่ทะเล ภูเขา หากแต่ยังมีสถานที่ประวัติศาตร์ที่น่าสนใจ ไม่ใช่แค่ศึกษาหากแต่สวยงามจนเกินห้ามใจที่จะเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกของนักเดินทางที่มาเยี่ยมเยือน เพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีทรัพยากร และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่หลากหลาย ที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น โดยเฉพาะงานสกุลช่างเมืองเพชร ที่ขึ้นชื่อ ประเพณี วีถีชีวิต ภูมิปัญญา อาหาร และอีกมากมายหลายสิ่ง


ความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวของเมืองเพชร ที่คนพูมักพูดถึงที่เราได้ยินบ่อยๆ น่าจะหมายถึง

  • เป็นเมือง 3 วัง นั่นคือ พระนครคีรี พระรามราชนิเวศน์ และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

  • เป็นเมือง 3 ทะเล นั่นคือ ทะเลเม็ดทราย ทะเลโคลน และทะเลหมอก

  • เป็นเมือง 3 รส นั่นคือ รสหวานของน้ำตาลโตนด รสเค็มของเกลือสมุทร และรสเปรี้ยวของมะนาว



สำหรับครั้งนี้ เรายังอยากเล่าเรื่องเมืองเพชรที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และความสวยงามของงานศิลปวัฒนธรรมโบราณคดี ของสกุลช่างเมืองเพชร หรือ งานศิลป์เมืองเพชร ที่มีอัตลักษณ์ และสามารถสะท้อนภาพของอดีตอันรุ่งเรือง จนมีการขนานนามเมืองเพชรไว้ว่า “อยุธยาที่ยังมีชีวิต” เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวง เพชรบุรี เคยเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของทิศตะวันตก เป็นเสมือนประตูสู่ภาคใต้ของเรา เพชรบุรี เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2000 ปี ตั้งแต่สมัยทวาราวดี เคยเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา เราจึงได้เห็นวัด หรือ ศาสนสถานมากมายในเมืองเพชรถึงทุกวันนี้ ชาวต่างชาติในสมัยก่อนเรียกเพชรบุรีต่างกันไป เช่น ชาวฮอลันดา เรียกว่า พิพรีย์ ในขณะที่ชาวฝรั่งเศสออกเสียงว่า พิพพีล์ และ ฟิฟรี จึงกลายเป็นข้อสันนิษฐานกันว่าชื่อ เมืองพริบพรี น่าจะเป็นชื่อเดิมของ เมืองเพชรบุรี และยังไปสอดคล้องกับชื่อของ วัดพลิบพลี วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเพชรบุรี


สกุลช่างเมืองเพชรนั้นได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจมาจากช่างสมัยอยุธยา และนำมาประยุกต์จนเป็นแบบฉบับของตัวเองและสืบสานมาจนถึงทุกวันนี้ ปรากฎให้เห็นอยู่ทั่วไปอาทิ งานลายรดน้ำ งานทำทอง งานลงรักปิดทองประดับกระจก งานแกะสลักไม้ งานปั้นหัวโขน และที่เด่นๆ เห็นชัดแห่งความงดงามวิจิตรบรรจงสำหรับแอดมิน คือ งานปูนปั้น และงานจิตรกรรมไทย ที่ทำให้ตรึงตราตรึงใจทุกครั้งที่ได้ชม วันนี้เรามาชมงานศิลปะเมืองเพชร ที่วัดมหาธาตุ แหล่งรวมใจของชาวเพชร กันแห่งแรก




วัดมหาธาตุวรวิหาร ศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนของชาวเพชรบุรี ด้วยเป็นวัดสำคัญเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองชองเพชรบุรีมาช้านาน ในทางโบราณคดีมีการค้นพบซากอิฐที่สันนิษฐานได้ว่าอยู่ในสมัยของทวาราวดี นั่นคือ น่าจะมีอายุมากกว่า 1000 ปีมาแล้ว วัดแห่งนี้มีการแบ่งเขตพุทธาวาส และสังฆาวาส องค์ประธานที่ประดิษฐานอยู่ตรงกลางพระวิหารมีความสูงกว่า 42 เมตร รายรอบด้วยปรางค์องค์เล็ก 4 ทิศ ประกอบด้วยมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน และช่องคูหา 4 มุม ภายในพระปรางค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สำหรับองค์พระปรางค์สร้างด้วยศิลาแลง ที่คาดว่าน่าจะเป็นความเชื่อจากทางมหายานของขอม เดิมน่าจะเป็นลักษณะของเจดีย์ 5 ยอดเช่นเดียวกับที่เมืองนครศรีธรรมราช และผ่านการบูรณะมาหลายครั้งและดัดแปลงจนกลายเป็นปรางค์ 5 ยอดในปัจจุบัน ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทุกทิศทางเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรที่รักษาชาวเพชรบุรี เป็นผลงานการออกแบบโดย นายพิน อินฟ้าแสง ครูช่างเมืองเพชรผู้โด่งดัง




วัดมหาธาตุยังมีพระวิหารหลวงที่สร้างขึ้นในช่วงปลายยุคกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ภายในพระวิหารหลวงมีพระพุทธรูปประธานทรงราชาภรณ์ โดยมีลักษณะแบบอยุธยาประดิษฐานหลวงพ่อศักดิ์สิทธิ์ วัดมหาธาตุ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 8 นิ้ว ที่พิเศษคือ หัตถ์ซ้ายถือพัด มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นศูนย์รวมจิตใจและความศรัทธาของชาวเมืองเป็นอย่างมาก ความงดงามอีกประการภายในพระวิหารคือ ภาพจิตรกรรมฝาผนัง และหน้าบันประดับปูนปั้นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑอันวิจิตรอลังการ ที่สะท้อนความชำนาญและลุ่มลึกของงานฝีมือของสกุลช่างเมืองเพชร งานปูนปั้นที่นี่สวยงามหาดูได้ยากเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนักสำหรับผู้ที่ได้มาชม เป็นฝีมือชั้นครูสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และสำหรับที่ท่านที่ชื่นชอบโบราณวัตถุที่นี่ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมศิลปวัตถุไว้อีกมากมายให้ชมอีกด้วย


อีกหนึ่งศิลปกรรมที่งดงามที่อยากแนะนำให้ท่านได้ชม คือ ใบเสมาคู่ที่ทำด้วยหินทรายแดง บนแท่งสูง 120 ซ.ม. มีการจำหลักลวดลายเต็มทั้งแผ่น มีซุ้มแบบกูบช้าง ลายที่ฐานเสมาแกะสลักเป็นรูปดอกไม้เรียงกันงดงามนัก



จากงานศิลปกรรมปูนปั้นของช่างสกุลเมืองเพชร เราจะเห็นได้ว่ามีความอ่อนช้อยมีชีวิตชีวาทำให้ผู้ชมคล้อยตามด้วยอารมณ์ของศิลปะที่ได้แสดงออกมา พร้อมสอดแทรกคติธรรม ข้อคิดต่างๆ ไว้พร้อมกันด้วย บ้างก็มีการสะท้อนภาพสังคมในยุคต่างๆ เพิ่มอรรถรสในการชมงานศิลปะได้ช่วยผ่อนคลายอารมณ์ได้อีกทางหนึ่ง ภาพปูนปั้นที่ประดับหน้าบัน ประตู หน้าต่าง และตามที่ต่างๆ นอกจากจะมีเหล่าทวยเทพ เทวดา นางฟ้า ยักษ์ ลิง ที่ส่วนมากก็จะมาจากเรื่องรามเกียรติ์ ยังมีภาพดอกไม้ในวรรณคดีของสุนทรภู่ ไปจนถึงภาพจากเหตุการณ์สำคัญอย่างเหตุการณ์สำคัญเมื่อ 14 ตุลาคม ภาพของท่าน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช และอีกหลายๆ ภาพ ทั้งหมดทั้งมวล ก็คือ มรดกอันล้ำค่าของสกุลช่างเมืองเพชรนั่นเอง


อักวัดที่คนรักงานศิลป์ไม่ควรพลาด คือ การไปชมจิตรกรรมฝาผนังงานพุทธศิลป์โบราณที่หาดูได้ยากที่ วัดเกาะแก้วสุทธาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า วัดเกาะ ด้วยสมรภูมิที่ตั้งของวัดแต่สมัยเดิมมีสายน้ำไหลผ่านรอบด้าน ไม่ว่าจะทางทิศตะวันตกที่จรดแม่น้ำเพชร และมีสายน้ำแยกจากแม่น้ำเพชรย่านวัดเกาะอีก 2 สาย ทางทิศเหนือและใต้ของวัดที่มีคลองคั่นระหว่างวัดเกาะและวัดจันทราวาส เรียกว่าคลองวัดเกาะ ทำให้อาณาเขตของวัดมีสภาพเป็นเกาะ ชาวบ้านจึงได้เรียกกันว่า วัดเกาะ ทั้งสายน้ำยังเปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ที่ล่อเลี้ยงคนในชุมชนอีกด้วย




วัดเกาะ ถือเป็นศูนย์รวมของชุมชนโบราณวัดเกาะ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี บริเวณย่านนี้มีความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย-จีนผสมผสาน ที่คาดว่าเป็นช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในปี พ.ศ. 2277 ซึ่งดูจากภาพจิตกรรมฝาพนังเก่าแก่ที่งดงามทีสุดแห่งหนึ่งของเพชบุรี รวมถึง ศาลเจ้าบ้านปืน ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน ที่ได้รับการสันนิษฐานว่าย้ายมาจากการสร้างวังบ้านปืน เป็นการบอกว่าพื้นที่บริเวณนี้ปรากฏร่องรอยของความรุ่งเรืองที่มีมาแต่อดีต เป็นแหล่งเศรษกิจของเมือง


วัดเกาะ สันนิษฐานว่า เป็นวัดในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ คือ พระอุโบสถที่ภายในมีภาพจิตกรรมฝาผนังเขียนด้วยฝุ่นผสมกาว ผนังด้านหน้ามีภาพจักรวาลตามคติโบราณ ส่วนด้านในเป็นภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ และด้านทิศใต้เป็นภาพพุทธประวัติตอนสำคัญที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ สำคัญ 8 แห่ง เรียกว่า อัฏฐมหาสถาน แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์ใต้ภาพฉัตร ผนังด้านทิศเหนือ ภาพแสดงสถานที่สำคัญที่พระพุทธเจ้าประทับหลังตรัสรู้ 7 แห่ง เรียกว่า สัตตมหาสถาน แทรกอยู่ระหว่างภาพเจดีย์เช่นกัน และที่แปลกตาคือ มีภาพของนักสิทธิ์วิทยาธร และคนธรรพ์ ที่ต้องการแสดงถึงชนชาติต่างๆ ที่เข้ามาในยุคนั้น เช่น ชาวยุโรปตะวันตก ชาวอาหรับ เป็นต้น ในช่วงปี พ.ศ. 2277



จิตรกรรมฝาผนังของวัดเกาะมีความโดดเด่น ในเรื่องการเขียนด้วยสีฝุ่น มีองค์ประกอบและเทคนิคของช่างสมัยอยุธยาชัดเจน ด้วยการใช้สีอ่อน มีการลงพื้นด้วยสีขาว จากนั้นเขียนบนพื้นด้วยสีเข้ม มีการลงสีแก่อ่อนด้วยการใช้น้ำเป็นส่วนผสม และสีที่นำมาใช้มีเพียงไม่กี่สี คือ แดง ดำ ขาว เหลือง, มีการเขียนภาพแบบเรียบง่าย คือ ในบางส่วนใช้เพียงการตัดเส้นรูปนอกเท่านั้น เช่น ช่องว่างระหว่างเจดีย์กับฉัตร, การจัดวางองค์ประกอบของภาพเป็นแนวตั้งซึ่งแปลกจากที่อื่นๆ โดยการใช้เจดีย์กับฉัตรเป็นตัวตั้งสลับกัน และมีกรอบสามเหลี่ยมครอบส้รางความต่อเนื่องได้อย่างลงตัว งามตา ระหว่างช่องว่างของเจดีย์และฉัตรมีการจัดวางรูปพุทธประวัติเข้าไป รวมถึงการจัดวางภพอื่นๆ ที่เหมาะสมลงตัว ดูแล้วเพลินสบายตา นอกเหนือจากนี้การใช้สีที่แตกต่างกัน ทำให้การแยกองค์ประกอบเป็นไปง่ายแก่การติดตามภาพ เสมือนการจัดวางกลุ่มตัวภาพ นอกเหนือจากนี้ยังมีลักษณะเส้นสินเทาเป็นเส้นครีบ มีความพลิ้ว, ภาพจิตรกรรมที่แสดงไว้มีหลายตอนซึ่งต่างจากที่อื่น ที่ส่วนใหญ่จะเน้นเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆเท่านั้น, ภาพจิตรกรรมเหล่านี้ยังแสดงถึงความเข้าใจและศรัทธาของพุทธศานิกชนในยุคนั้นอีกด้วย รวมถีงสภาพสังคมบางส่วน วิถีชีวิต การติดต่อค้าขายเข้ามาของคนต่างชาติจากตะวันออกและตะวันตก ทำให้เห็นว่า เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองหนึ่งที่มีความเจริญรุ่งเรืองสำคัญเมืองหนึ่งในสมัยอยุธยาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความอุดมสมบรูณ์ของบ้านเมือง และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา


นอกเหนือจากนี้วัดเกาะยังมี เจดีย์ทรงเครื่องทางทิศตะวันออก เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทรงกลมขนาดใหญ่ แปลกตาด้วยการประดับด้วยกลีบบัว กระจังปฏิญาณ พวงอุบะ บริเวณปากระฆังและองค์เจดีย์ เดิมทีเจดีย์นี้เป็นองค์ขนาดย่มภายในประดิษฐานพระพรมธาติ ต่อมาได้มีการสร้างเจดีย์องค์ปัจจุบันครอบทับไว้ ถัดมาคือ หอระฆัง ซึ่งเป็นหอแรกของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นต้นแบบของหอระฆังอื่นๆ อีกหลายวัด มีศาลาการเปรียญที่มีภาพจิตรกรรมที่งดงามฝีมือช่างเมืองเพชรเช่นกัน มีหมู่กุฎิสงฆ์ที่ยังคงรูปแบบเรือนไทยหมู่ที่เชื่อมถึงกัน มีหอกลาง และชานที่เชื่อมต่อกัน




บริเวณใกล้วัด คือ ชุมชนวัดเกาะ 300 ปี มีเรือนแถวไม้เก่า ตึกอาคารเก่าที่ทรงคุณค่าริมแม่น้ำเพชรบุรี เป็นถนนสายวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของเพชรบุรี ร้านขนมอาลัวของครูปราณี ที่เปิดให้เข้าไปชมการทำขนมอาลัว ข้าวตู ตะลิงปลิงแช่อิ่ม ได้ คุณป้าใจดี และขนมอร่อย ย่านนี้สามารถเดินทอดน่องชมบ้านเรือนสถาปัตยกรรม อาคารเรือนปั้นหยาบ้านวาดเวียงไชยที่สวยงามมากโดยใช้ช่างจีนและช่างไทยในการก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นบ้านที่โดดเด่นและทันสมัยอย่างมากในยุคนั้น เมื่อราว 90 ปีก่อน วัฒนธรรมผสมผสานไทย-จีน มีโรงเจฮักสียนเสี้ยนตึ้ง โรงเจโบราณของกลุ่มพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยน 5 ตระกูล ศาลาคามวสี หรือ ศาลากลางหมู่บ้านตามวัฒนธรรมของคนเพชรบุรี แหล่งทำกิจกรรมร่วมกันของคนในหมู่บ้าน ในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้



ที่เที่ยวเพชรบุรี

และสุดท้ายสำหรับสถานที่เที่ยวที่ไม่พูดถึงไม่ได้ของเมืองเพชรบุรี คือ “อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี” หรือที่รู้จักกันดีว่า “เขาวัง” โบราณสถานเก่าแก่คู่เมืองเพชรบุรี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เพื่อใช้เป็นพระราชวังฤดูร้อน คงต้องบอกว่าที่นี่เป็นสถานที่ทีมีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของเพชรบุรี และเป็นสถานที่ที่คนเพชรบุรีมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง จะเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำจังหวัดก็น่าจะได้




พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นหัวเรือใหญ่ในการสร้างวังที่ประทับบนยอดเขาจนสำเร็จเรียบร้อยเมื่อปี พ.ศ.2403 และได้ทรงพระราชทานนามไว้ว่า "พระนครคีรี" แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเรียกกันติดปากว่า "เขาวัง" มาจนถึงปัจจุบัน ภายในเขาวัง ประกอบด้วยพระที่นั่ง วัด และกลุ่มอาคารต่าง ๆ ภายใต้สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกผสมผสานกับกลิ่นอายสถาปัตยกรรมแบบจีนอันสวยงาม ซึ่งแต่ละแห่งตั้งอยู่บนยอดเขา 3 ยอดด้วยกัน อันได้แก่




ภูเขาด้านทิศตะวันออก เริ่มจากบริเวณเชิงเขาเป็นที่ตั้งของวัดเก่าแก่ที่มีมาแต่ครั้งสมัยอยุธยา คือ วัดมหาสมณาราม ที่มีความงดงามด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังจากฝีมือขรัวอินโข่ง (“......ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรหัวก้าวหน้า ผู้พัฒนาแนวทางจิตรกรรมไทยแบบประเพณี สร้างสรรค์งานจิตรกรรมฝาผนังในแนวความคิดใหม่ โดยนำเอารูปแบบจิตรกรรมตะวันตกที่เกี่ยวกับการจัดองค์ประกอบ ผู้คน การแต่งกาย ตึกรามบ้านเมือง ทิวทัศน์ การใช้สี แสงเงา บรรยากาศที่ให้ความรู้สึกในระยะและความลึกมาใช้อย่างสอดคล้องกับเรื่องที่ได้แสดงออกเกี่ยวกับคติและปริศนาธรรม...”) ขรัวอินโข่งเป็นจิตรกรไทยคนแรกที่เขียนภาพคนเหมือนแบบตะวันตก (Portrait) เป็นคนแรก โดยเขียนภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการศึกษาหลักฐานด้านประวัติศาสตร์จิตรกรรมของไทย ยังคงถือกันว่างานชิ้นนี้นับเป็นงานภาพคนเหมือนที่มีชื่อเสียงชิ้นแรกของประเทศไทย ปัจจุบันภาพเหมือนพระบรมสาทิสลักษณ์ฯ ดังกล่าวประดิษฐานอยู่ในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ


เป็นที่ตั้งของวัดพระแก้ว ซึ่งมีแก้วผลึกเป็นพระประธาน ทรงให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดประจำพระราชวังเฉกเช่นเดียวกับวัดพระแก้วในกรุงเทพฯ ครั้นสิ้นแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว ทางการได้นำพระแก้วกลับคืนสู่กรุงเทพฯ และได้เปลี่ยนนำพระพุทธรูปหินอ่อนประดิษฐานเป็นพระประธานแทน บริเวณด้านหน้าอุโบสถวัดพระแก้ว มีพระปรางค์แดงซึ่งมีลักษณะเป็นพระปรางค์โปร่ง (โดยปกติแล้วพระปรางค์จะตันและทึบ) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป ชาวบ้านเรียกพระปรางค์นี้ว่า “เจดีย์แดง”




ถัดมาภูเขายอดเขากลาง ประดิษฐานพระธาตุจอมเพชร องค์พระธาตุรูปฐานกลมองค์พระธาตุสูง 1 เส้นภายในฐานกลวงเป็นห้องกลมมีทางเข้าออกสี่ทางและมีช่องทางที่สามารถเดินขึ้นบนฐานทักษิณอีกสี่ช่อง ณ จุดนี้สามารถมองเห็นพระที่นั่งต่าง ๆ รวมทั้งทิวทัศน์ของตัวเมืองเพชรบุรีได้อย่างสวยงามประทับใจ


และภูเขาด้านทิศตะวันตก คือ เป็นที่ตั้งของพระราชวังซึ่งมีพระที่นั่งและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมาย เช่น




พระที่นั่งเพชรภูมิไพโรจน์ เป็นพระที่นั่งองค์แรกของพระราชวังโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มี ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นแบบยุโรปผสมไทยและจีนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่มีมุขยื่นออกไปด้านข้างสองด้านทั้งซ้ายและขวา ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าให้ดัดแปลงบางส่วน ปัจจุบันใช้เป็นที่จัดแสดงโบราณวัตถุและเครื่องเรือนต่างๆ พระที่นั่งองค์นี้เคยเป็นสถานที่รับรองพระราชอาคันตุกะเช่น ดยุคโยฮันอัลเบรกต์ แห่งเยอรมนีและเจ้าหญิงอลิสซาเบตสโตลเบิร์กรอซซาลา พระชายา อีกด้วย




พระที่นั่งปราโมทย์มไหศวรรย์ ที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้าเทพศิรินทราบรมราชินี ปัจจุบันจัดแสดงพระแท่นบรรทมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว




พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาท เป็นปราสาทที่สวยงาม สูง 7 วา ลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทจตุรมุข ยอดปรางค์ 5 ยอด ตามพระราชนิยมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยสำริด ทรงฉลองพระองค์แบบตามพระราชนิยม ทรงพระมาลาสก๊อต พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงดาบ พระหัตถ์ซ้ายทรงสมุดหนังสือ ทรงยืนใต้นพปฎลเศวตฉัตร จากพระที่นั่งองค์นี้มีประตูออกไปสู่ พระที่นั่งราชธรรมสภา




พระที่นั่งราชธรรมสภา ทรงใช้เป็นที่ประชุมสาธยายธรรม ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว ศิลปะผสมระหว่างศิลปะยุโรป จีน และไทย หลังคาเป็นแบบเก๋งจีนในรัชกาลที่ 4 ทรงใช้เป็นที่ประชุมส่วนพระองค์บรรยายธรรมะ ปัจจุบันใช้เป็นอาคารแสดงนิทรรศการ จุดเด่นจะอยู่ตรงประตูบ้านโค้งสีเขียว ตัดกับผนังสีขาวที่มีลายปูนปั้นสวยงามภายในมีโต๊ะหมู่บูชาสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปลีลาเจดีย์แดง




หมู่พระตำหนักสันถาคารสถาน สถาปัตยกรรมแบบประยุกต์ตะวันตกสันหลังคาเป็นแบบจีนมุงกระเบื้องกาบกล้วย

หอชัชวาลเวียงชัย หรือ หอกระโจมแก้ว หรือ หอส่องกล้อง โปรดให้สร้างไว้โดยมีพระราชประสงค์ทรงส่องกล้องทอดพระเนตรดวงดาวจากตำราดาราศาสตร์ มีลักษณะเป็นระเบียงลูกแก้วโดยรอบที่ชั้นบน หลังคาเป็นรูปโดมมุงด้วยกระจกโค้งภายในมีโคมไฟห้อย กลางคืนจะสามารถมองเห็นแสงไฟได้ไกลไปถึงชายทะเลทีเดียว




หอพิมานเพชรมเหศวร ประกอบด้วย ศาลาเทพารักษ์ หรือ ศาลพระภูมิเจ้าที่, หอประโคมสังคีต, และหอประดิษฐานพระพุทธรูป




หอจตุเวทปริตพัจน์ เป็นสถานที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงสดับพระธรรมเทศนาในวันพระธรรมสวนะ

ศาลาทัศนานักขัตฤกษ์ เป็นศาลาที่ประทับทอดพระเนตรการจัดงานนักขัตฤกษ์และประเพณี


นอกจากนี้แล้วยังมีโรงรถ โรงม้า ศาลามหาดเล็ก ศาลาลูกขุน ราชวัลลภาคาร ศาลาด่าน ศาลาเย็นใจ ทิมดาบองครักษ์ โรงครัว โรงมหรสพหรือโรงโขน ศาลาด่านหน้า ทิมดาบองครักษ์ โรงสูทกรรม ศาลาด่านหลัง ตามแบบพระราชวังทั่วไป รอบพระราชวังมีป้อมล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศคือ ป้อมธตรฐป้องปกทางทิศตะวันออก ป้อมวิรุฬหกบริรักษ์ทางทิศใต้ ป้อมวิรูปักษ์ป้องกันทางทิศตะวันตก และป้อมเวสสุวรรณรักษาทางทิศเหนือ ปัจจุบันยังปรากฏให้เห็นป้อมเหล่านี้อยู่


กรมศิลปากรได้ทำการสำรวจและประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2496 จัดทำโครงการบูรณะเข้าแผนทำนุบำรุงส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ( พ.ศ.2525-2529) ในปีพ.ศ.2524 ภายใต้ชื่อ “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี” ตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้จัดให้มีการก่อสร้าง หอสมุดแห่งชาติขึ้นด้วยโดยใช้พระตำหนักสันถาคารสถาน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2522 ได้ประกาศให้เป็น “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”


เปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2528 และเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อปีพุทธศักราช 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมาทรงพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์ โดยได้ทรงเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี


เห็นไหมค่ะ ขนาดที่เที่ยวแนวประวัติศาสตร์โบราณคดี ยังน่าเที่ยวขนาดนี้ และนี่แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น เราคงต้องใช้อีกเยอะเลยค่ะ หากจะเล่าเรื่องแหล่งเที่ยวของเพชรบุรีกันให้ครบ เพชรบุรียังมีสถานที่ท่องเที่ยวให้เราได้ไปเยี่ยมชมอีกมาก ในรูปแบบที่เชื่อว่าต้องถูกใจนักเดินทางทุกท่านอย่างแน่นอน


ที่เที่ยวเพชรบุรี

และสำหรับท่านที่สนใจอยากเที่ยวเมืองเพชรบุรี เมืองที่ทั้งสวย หอม หวาน แห่งนี้ แต่ไม่รู้จะไปอย่างไร หรือเที่ยวที่ไหน ทานอะไรดี Getaway Holidays มีรายการดีๆ มานำเสนอทุกท่านพร้อมชมการแสดงจุดพลุที่ยิ่งใหญ่สวยงามของงานพระนครคีรี- เพชรบุรี ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 35 ในปี พ.ศ. 2565 นี้ เราเดินทางกันในวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ ศกนี้ เดือนแห่งความรักกับเมืองที่สวย (งานศิลป์) หวาน (น้ำตาลโตนด ขนม) และหอม (กลิ่นอายทะเลและความสุข) ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โทร 02-653-2050 หรือ ติดตามเราทางไลน์ @buynoww หรือ 👉🏻 คลิกดูโปรแกรมสุขีสโมสร เพชรบุรี เมืองนี้ดีจัง 2 วัน 1 คืน 26 - 27 ก.พ.





コメント


bottom of page