เมืองเพชรบุรี เดิมเรียกว่า "พริบพรี" และจากหลักฐานในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่เจ็ด ปรากฏชื่อว่า ศรีชัยวัชรปุระ เป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยโบราณ เคยเป็นอาณาจักรเล็กๆ อาณาจักรหนึ่ง บางสมัยมีผู้ครองนครหรือกษัตริย์มาปกครอง บางสมัยก็ตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรที่เข้มแข็งกว่า
เพชรบุรีมีชุมชนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ 4,000 ปีก่อน ในช่วงยุคหินใหม่ การติดต่อค้าขายกันกับชุมชนอื่นๆ คงเป็นปัจจัยให้ชุมชนเพชรบุรีเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะเมื่อชาวตะวันตกกับชาวตะวันออกเริ่มติดต่อกันทั้งทางด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจแบบข้ามภูมิภาค จากการมีเส้นทางคมนาคมลัดคาบสมุทรทางบกในบริเวณใกล้เคียง คือ เส้นทางจากเมืองมะริดมีเส้นทางแม่น้ำตะนาวศรีมาออกอ่าวไทยที่อำเภอทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ และเส้นทางเดินเรือน้ำลึกข้ามตัดอ่าวไทยได้ ทำให้ผู้คนพากันมาตั้งถิ่นฐานมากขึ้น และได้รับอิทธิพลทางคติความเชื่อในพุทธศาสนา และวัฒนธรรมของทวาราวดีขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ก็ทำให้มีชุมชนโบราณบ้านเศรษฐีและเจดีย์ทุ่งเศรษฐี เป็นต้น
ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 18 เมื่อวัฒนธรรมเมืองขอมหรือเขมรโบราณเสื่อมอำนาจลงและรัฐต่างๆ ในดินแดนไทยมีอำนาจมากขึ้น โดยเมื่อล่วงเข้าสมัยอยุธยา เพชรบุรีก็ทวีความสำคัญมากขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจจากการเป็นเมืองท่าสำคัญที่ส่งข้าว ผ้าฝ้าย อาหารทะเล และเกลือเป็นสินค้า ครั้นเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ถึงแม้ความสำคัญของเพชรบุรีจะลดลง แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเสด็จมายังเมืองเพชรบุรีหลายครั้ง ทั้งเมื่อครั้งยังทรงผนวชและเมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วก็ทรงโปรดเกล้าให้สร้าง พระนครคีรี ขึ้นบนยอดเขามหาสวรรค์ในปี พ.ศ. 2402 เพื่อใช้เป็นพระราชนิเวศน์สำหรับประทับพักผ่อนในฤดูร้อน และยังเคยโปรดเกล้าให้มีการจัดพิธีโสกันต์พระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งที่พระนครคีรีด้วย
ดูโปรแกรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จากลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👇
ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ยังโปรดที่จะแปรพระราชฐานมาประทับแรมยังเมืองเพชรบุรี และพระองค์ท่านยังโปรดให้ซ่อมแซมพระราชวังพระนครคีรีเพื่อใช้รับรองแขกเมือง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สร้างพระราชวัง “บ้านปืน” อีกแห่งด้วย
พระรามราชนิเวศน์ หรือ “วังบ้านปืน”
ตั้งอยู่ที่บ้านปืน อ.เมือง จ.เพชรบุรี เป็นพระราชวังที่มีความงดงามสวยแปลกตาตามแบบยุโรป พระตำหนักใช้ลักษณะผสมผสานสถาปัตยกรรม แบบบาโรค (Baroque) และ อารต์นูโว (Art Nouveau) เข้าด้วยกันอย่างลงตัว โดยมีนายช่างชาวเยอรมันนามว่า คาร์ล เดอห์ริง (Karl Döhring) เป็นผู้คิดเขียนแบบรูปพระตำหนักตามกระแสพระราชดำริ และมี ดร. ควดไบเยอร์ ชาวเยอรมันอีกเช่นกัน เป็นนายช่างก่อสร้าง โดยพระราชประสงค์ให้สร้างพระราชวังแบบยุโรป เพื่อใช้สำหรับแปรพระราชฐานในฤดูฝน ความงดงามของสถาปัตยกรรมยุโรปสุดคลาสสิกที่มีอายุกว่า 100 ปี แต่ยังคงความงดงามไว้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจไม่เปลี่ยนแปลง
แม้พระราชวังบ้านปืนแห่งนี้จะมีอายุกว่า 100 ปีแล้วก็ตาม แต่ยังคงความคลาสสิคและงดงามตามแบบฉบับของสถาปัตยกรรมยุโรปไว้เช่นเดิม โดยตัวพระตำหนักเน้นความความทันสมัย ตัวอาคารเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมสวนหย่อมและสระน้ำพุ ที่ตั้งไว้ตรงกลาง ส่วนที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ หลังคารูปทรงโดมสูง ภายในมีบันไดโค้งขึ้นสู่ชั้น 2 ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นของพระตำหนักแห่งนี้ นอกเหนือจากนี้ยังรวบรวมสิ่งที่น่าสนใจอื่นๆ ไว้ให้ได้ชมอีกหลายอย่าง กล่าวคือ ไม่เน้นลายรูปปั้นที่วิจิตรพิสดารมากมายเหมือนอาคารที่ถูกสร้างในสมัยเดียวกัน หากแต่มา เน้นในเรื่องของความสูงของหน้าต่างที่สามารถมองเห็นได้ ทั้งจากภายในและด้านนอกของอาคารได้อย่างชัดเจน อีกทั้งความสูงและกว้างใหญ่ของเพดาน เพื่อให้พระตำหนักมีความโล่งโปร่งตา สง่างาม ตระการตา พำนักได้อย่างสบายและคลาสสิค แบบไม่ต้องมีลวดลายหรือสีสันมากมายแต่อย่างใดเลย
แผนผังของตัวอาคารสร้างเป็น สี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมสวนหย่อม มีสระน้ำพุตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนที่ประทับเป็นตึกสองชั้นขนาดใหญ่ หลังคาทรงสูงรูปโดม ภายในเป็นโถงสูงมีบันไดเวียนคู่ขึ้นสู่ชั้นสองซึ่งจัดเป็นจุดเด่นของพระตำหนัก เป็นศิลปะแบบบาโรค โดยลักษณะวนหากันเป็นรูปดอกจิก ราวบันไดประดับประดาด้วยด้วยรูปปั้นตุ๊กตาถือผลไม้บ้าง ถือพวงมาลัยบ้าง ตามแบบศิลปะแบบโมเดิร์นสมัยใหม่ โดยเชื่อมต่อจากห้องโถงชั้นล่าง ที่นายช่างชาวเยอรมัน คาล ดอห์ริง ได้ออกแบบไว้ได้อย่างกลมกลืนลงตัวอย่างยิ่ง เพิ่มควาฒโดดเด่นด้วยต้นเสาสีเขียวเข้ม และพื้นหินอ่อนกลางห้องคล้ายเกล็ดปลา เมื่อมองจากชั้นบนจะเห็นภาพได้ชัดเจนและสวยงามมาก บริเวณชั้นสองมีมีระเบียงที่สามารถมองเห็นวิวด้านนอกได้อย่างชัดเจนเป็นมุมที่ดูผ่อนคลายได้ดีทีเดียว
การตกแต่งของพระราชวังบ้านปืนนี้ เน้นการตกแต่งที่เรียบง่ายหากแต่คลาสสิคทั้ง ชั้นล่างและชั้นบน โดยเปิดให้เข้าชมทั้งสองชั้น ซึ่งมีทั้งห้องพระโรงกลาง ห้องเครื่อง ห้องเสวย หรือเทียบเครื่อง ห้องรอเข้าเฝ้า นอกเหนือจากบันไดเวียนที่สวยคลาสสิคแล้ว ห้องที่แอดมินชอบเป็นพิเศษ ก็น่าจะเป็นห้องเสวย ที่รวบรวมเอาศิลปะแบบโมเดิร์นของเยอรมัน และอาร์ตนูโวของฝรั่งเศสเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว ประดับผนังด้วยแผ่นกระเบื้องเคลือบสีเหลืองสด ตัดกรอบด้วยกระเบื้องสีเขียวเป็นช่องตามแนวตั้ง กระเบื้องประดับผนังประดับด้วยลวดลายนูนรูปสัตว์และพันธ์พืชต่างๆ สอดแทรกเข้ากันเป็นระยะ บริเวณด้านหน้าของห้องประดับรูปปั้นเทพเจ้าโพไซดอน ซึ่งมีความเชื่อว่าเป็นเทพแห่งท้องทะเลอันศักดิ์สิทธิ์
ถัดมาอีกห้องที่ชื่นชอบ ห้องบรรทมพระราชินี ที่มีชั้นต่างระดับให้ประทับยืนมองเห็นทิวทัศน์ที่สวยงามของพระนครคีรีได้อย่างชัดเจน และห้องที่สวยที่สุดคงหนีไม่พ้น ห้องบรรทมพระเจ้าอยู่หัว เป็นห้องที่มองเห็นทัศนียภาพของพระนครคีรีได้ชัดเจน ภายในห้องสร้างด้วยเสาที่ทำจากแผ่นทองแดงดุนลายกรุ ปัจจุบันห้องนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ ไว้ให้ประชาชนสักการะบูชา
และสุดท้ายห้องที่บางท่านอาจไม่สนใจ แต่แอดมินกลับชื่นชอบเช่นกัน เพราะมีลักษณะเด่น คือ มีตู้ฝังกับผนังห้องมีกระจกหน้าต่างเป็นกระจกสแตนกลาส นั่นคือ ห้องทรงพระอักษร และอีกห้องคือ ห้องสรง ที่ไม่ธรรมดา หากแต่รวบรวมศิลปะร่วมสมัยเข้าไว้ด้วยกัน มีการประดับกระจกสแตนกลาสที่สวยที่สุดของพระราชวัง นอกเหนือจากการตกแต่งติดตั้งสุขภัณฑ์ที่ไว้
บริเวณลานด้านหน้าพะราชวังบ้านปืน เป็นที่ประดิษฐาน พระบรมราชานุสาวรีย์พระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5 ซึ่งคงเป็นภาพที่คุ้นตากันดีกับหลายๆ คน เพราะเป็นภาพที่เห็นกันตามนิตยสาร หรือ เพจต่างๆ ว่าที่นี่คือ พระราชวังบ้านปืน หรือ พระรามราชนิเวศน์นั่นเอง และ โดยรอบลานพระที่นั่ง มีปืนใหญ่หล่อด้วยสำริดตั้งอยู่โดยรอบหันหน้าทั้งสี่ทิศ มีชื่อดังนี้คือ รามสูรคว่างขวาน ยมบาลจับสัตว์ ลอยชายเข้าวัง และ กำลังเพชรหึง บริเวณรอบๆ มีต้นไม้ใหญ่แผ่กิ่งก้านสาขามีม้านั่งให้พักผ่อนเก็บถาพเป็นที่ระลึกหลังชมพระราชวัง หรือ สักการะพระบรมรูปของในหลวงรัชกาลที่ 5 แล้ว ทำให้รู้สึกผ่อนคลายได้อย่างดีทีเดียว ปัจจุบันอยู่ในเขตการดูแลของมณฑลทหารบกที่ 15 ซึ่งเป็นบริเวณค่ายรามราชนิเวศน์
วัดใหญ่สุวรรณาราม
พระอารามหลวง เดิมมีชื่อว่า “วัดน้อยปักษ์ใต้” แต่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “วัดใหญ่” เป็นวัดเก่าแก่มากของ จ.เพชรบุรี และทรงคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมที่แสดงถึงร่องรอยของความเจริญรุ่งเรืองที่เป็นเมืองสำคัญมาหลายยุคสมัย เนื่องด้วยที่นี่เป็นแหล่งรวมงานช่างฝีมือเมืองเพชรที่ปราณีตอ่อนช้อยและงดงามยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์ สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อ้างจากหลักฐานตามพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงไว้ว่า “ภาพและลายในพระอุโบสถนี้คงเขียนมาก่อน 300 ปีขึ้นไป”
ในส่วนของชื่อ วัดใหญ่ นั้นสันนิษฐานกันว่าน่าจะมาจากพื้นที่ที่กว้างใหญ่ของวัดที่มากกว่า 20 ไร่ และคำว่า สุวรรณ คาดว่าน่าจะได้มาจากพระนามของพระสังฆราช (แตงโม) ซึ่งเดิมท่านมีนามว่า ทอง เพราะท่านได้ปฏิสังขรณ์ครั้งสำคัญแก่วัดแห่งนี้ที่เป็นสถานศึกษาของท่าน จึงเป็นที่มาของชื่อ วัดใหญ่สุวรรณาราม นับแต่นั้นมา
วัดใหญ่ได้รับการปฏิสังขรณ์อยู่หลายครั้ง จนในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ได้มีการสร้างเสนาสนะอีกหลายอย่าง อาทิเช่น หอสวดมนต์ ระเบียงคตรองพระอุโบสถ หอระฆัง ศาลาคู่ กำแพงรอบวัดพร้อมซุ่มประตู ที่ยังมีถึงปัจจุบัน
แต่สิ่งที่แอดมินชื่นชอบหลงใหลเป็นอย่างยิ่งทุกครั้งที่มาเยือนวัดใหญ่ คงจะเป็น รูปแบบของสถาปัตยกรรมการก่อสร้าง งานจิตรกรรมฝาผนัง และประติมากรรมที่รวบรวมช่างฝีมือไว้หลายสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝีมือช่างเมืองเพชรสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ปราณีตและเลื่องชื่อยิ่งนักที่เห็นได้ในพระอุโบสถและศาลาการเปรียญ “พระอุโบสถ” ลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมทรงไทยสมัยอยุธยา ก่ออิฐ ถือปูน มีหน้าบันประดับกระจกสี ประกอบลวดลายปูนปั้นสวยงามมาก ด้านหน้ามีช่องประตู 3 บาน มีภาพเขียนทวารบาลที่อ่อนช้อยงดงาม ผนังด้านข้างก่อทึบไม่มีช่องหน้าต่าง ตัวพระอุโบสถยกพื้นสูงเป็นฐาน 2 ชั้น ฐานอาคารภายนอกยกมุมฐานให้งอนขึ้นแบบฐานทรงสำเภา ผนังด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นภาพเทพชุมนุม 5 ชั้น ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าทางศิลปะที่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ ได้แก่ พระพรหม ยักษ์ ครุฑ ฤาษี และเทวดา ไม่ซ้ำแบบกัน คั่นกลางองค์เทพด้วยลายดอกไม้ ด้านหน้าและด้านหลังผนังหุ้มกลองของพระอุโบสถมีบานประตูด้านละ 2 ช่อง โดยด้านหน้าเจาะช่องหน้าต่างไว้อยู่ระหว่างกึ่งกลางของบานประตูทั้งสองข้าง แต่มีขนาดใหญ่กว่าบานประตู หน้าบันด้านหลังซึ่งอยู่ใกล้กับศาลาการเปรียญปั้นเป็นรูปพระนารายณ์เหยียบอสูร ประกอบด้วยลายช่อพุ่มหางโต แตกช่ออ่อนพลิ้วสวยงามมาก ส่วนด้านหลังของบานประตูและหน้าต่าง มีภาพเขียนทวารบาลรูปทรงสวยงามมาก
พระอุโบสถมี พระระเบียงคดล้อมรอบ ทั้งหมด 8 หลัง หลังคาเป็นจตุรมุขล้อมรอบพระอุโบสถและหน้าบันทุกด้านประดับลายเครือเถามีเลข (๕) วางพลาดเหนือพระขรรค์ อยู่ใต้พระมหาพิชัยมุงกุฎ เบื้องบนเป็นแฉกรัศมี อันหมายถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้และทรงโปรดปราณวัดใหญ่ จนมีพระราชโองการประกาศวัดใหญ่สุวรรณารามเป็นพระอารามหลวง ตั้งแต่ ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) และหากท่านมีเวลาลองเดินดูระเบียงคดรอบๆ ก็จะเห็นหน้าบันด้านหนึ่งที่แปลกออกไป ประดับด้วยเลขห้าแบบกลับด้าน
ภายในพระอุโบสถ เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปปางมารวิชัย ลงรักปิดทองสมัยอยุธยา อีกองค์หนึ่งเป็นพระคันธารราษฎร์ สมัยอยุธยานั่งขัดสมาธิเพชรและมีรูปสมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) ทางด้านซ้าย ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นประติมากรรมรูปคนเหมือนจริงชิ้นแรกของไทย ส่วนด้านขวาคือ อดีตเจ้าอาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม รูปหล่อพระครูมหาวิหาราภิรักษ์ (พุก) ความน่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของพระประษนปางมารวิชัยคือ ที่พระบาทเบื้องขวาท่านมี 6 นิ้ว
ใกล้กับพระอุโบสถ เป็นที่ตั้งของ “หอไตรกลางน้ำ” ซึ่งเป็นหลังเก่าเดิมตั้งอยู่กลางสระน้ำ เป็นรูปทรงแบบเรือนไทยโบราณ ชั้นเดียว มี 2 ห้อง และ มี 3 เสา เดิมเป็นเสาไม้ แต่กาลเวลาผ่านไปทำให้ผุพังลง ปัจจุบันที่เห็นเป็นเสาปูนคือที่ทำขึ้นใหม่เพื่อความคงทนมากขึ้น เสา 3 ต้น นั้น มีความหมายที่มีนัยยะอันหมายถึง พระอภิธรรม พระวินัย และพระสูตร ซึ่งรวมเรียกว่า พระไตรปิฏก เชื่อมต่อทางเดินจากขอบสระไปสู่หอไตรกลางน้ำด้วยสะพาน เป็นหอไตรหลังเก่าตั้งอยู่กลางสระน้ำ
อีกส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ ศาลาการเปรียญ มีขนาด 10 ห้อง มีความกว้าง 5 วา ยาว 15 วา เป็นเรือนไม้สักทั้งหลัง หลังคาแบบมุขประเจิด มุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย ประดับช่อฟ้าใบระกาติดกระจก ตามตำนานกล่าวว่าสมเด็จพระเจ้าเสือ กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้พระราชทานแด่สมเด็จพระสังฆราช (แตงโม) พระอาจารย์ของพระองค์และพระองค์มีพระศรัทธาเลื่อมใสอย่างยิ่ง งานศิลปกรรมที่น่าชม อาทิ หน้าบัน เป็นลายกนกช่อหางโต ที่มุขประเจิดประดับด้วยสาหร่ายรวงผึ่งหัวนาค แสดงถึงบารมีของผู้สร้าง ทวย ทำจากไม้ทั้งแผ่น จำหลักลายงดงามเรียกว่า ทวยหน้าตั๊กแตนและบานประตูขนาดใหญ่ด้านหน้าทิศตะวันออกที่ถือว่าเป็นประตูประวัติศาสตร์ที่สวยงามยิ่งนัก จำหลักลายก้านขดหางโต สอดแทรกด้วยลายพรรณพฤกษา บานหนึ่งมีรอยแตก ซึ่งเล่าขานกันว่าทหารพม่าฟันด้วยขวานจนเนื้อไม้ขาดหายไป แต่ก็มีนักวิชาการให้ความเห็นว่า น่าจะเป็นการทำลายประตูตั้งแต่ครั้งรื้อตำหนักถวายสมเด็จกระสังฆราช (แตงโม) มากกว่า
ด้านในของศาลาการเปรียญมีเสาแปดเหลี่ยมเขียนลายรดน้ำฝาผนังและบนบานหน้าต่างก็มีภาพเขียนลายน้ำกาว ที่ยังสามารถมองเห็นได้จนถึงปัจจุบัน มีธรรมาสน์ฝีมืองดงามอยู่ 2 หลัง หลังเก่ามีมาพร้อมกับศาลาการเปรียญ ลักษณะเป็นไม้จำหลักทรงบุษบก อีกหลังได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ ลงรักปิดทองใหม่ และถูกอัญเชิญไปเข้าประกอบพิธี ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ด้วย
พระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เคยพระกระแสรับสั่งไว้ว่า หากจะดูการช่างฝีมือช่างเมืองเพชร ต้องมาดูที่วัดใหญ่สุวรรณาราม แห่งนี้ ด้วยการเข้าไม้ ต่อไม้ทำได้แนบสนิทสุดยอด และนี่คือ จุดสำคัญของงานศิลปะช่างฝีมือเมืองเพชรที่วัดใหญ่ฯ ให้สังเกตการณ์ศิลปะของการเข้าไม้ ไม่มีอะไรบัง ไม่มีฝ้าเพดาน ทำเป็นหลังคาสูง ไม่ร้อน เป็นเอกลักษณ์ของบ้านไทยทรงโบราณด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้าน เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ต้องถือหลักการปลูกสร้างบ้านไม่ขวางตะวันรับแสงแดดร้อน เรื่องอย่างนี้ก็ต้องมีการถอดรหัสด้วย
ที่นี่ยังเคยใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ละครหลายเรื่องด้วยกัน อาทิเช่น หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล (ท่านมุ้ย) ได้เคยพูดว่า ตอนที่ถ่ายทำภาพยนตร์สมเด็จพระศรีสุริโยไท ก็มาตั้งกองถ่ายทำงานที่นี่เป็นเวลา 6 เดือน ถ่ายทำทั้งภายในพระอุโบสถ บนศาลาการเปรียญแห่งนี้ และบริเวณรอบวัดใหญ่ฯ บริเวณสระน้ำทุกที่ในบริเวณวัด จากการเดินทางเรือเสมือนว่ามีแม่น้ำลำคลองไหลผ่านวัดแท้จริงแล้วเป็นสระที่อยู่ด้านข้างพระอุโบสถ เพราะมีความเป็นกรุงศรีอยุธยาอยู่มากอย่างเห็นได้ชัด ต่อมาที่วัดแห่งนี้จึงเป็นที่นิยมใช้ถ่ายทำทั้งละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เรื่องล่าสุดภาพยนตร์ไทยเรื่องขรัวโต อมตะเถระกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นภาพยนตร์ซีรีส์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ก็ถ่ายทำที่เตียงมรณภาพด้วย
และสุดท้ายที่ห้ามพลาดเช่นกัน คือ “ถาน” หรือ “เวจกุฎี” ที่หาชมได้ยากแล้ว เป็นส้วมของพระสงฆ์ในสมัยก่อน วัดใหญ่สุวรรณารามได้อนุรักษ์ไว้ 2 หลัง ถานในสมัยโบราณ เป็นโรงเรือนที่แยกออกไปต่างหาก ส่วนใหญ่จะอยู่ท้ายวัดจะได้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นมารบกวน ลักษณะเป็นโรงเรือนใต้ถุนสูง ด้านบนมีฝาปิดมิดชิด มีช่องระบายอากาศและช่องแสง มีประตูเปิดปิด
อ่านมาถึงตรงนี้ แอดมินก็ยังจะยืนยันอีกครั้งว่า การเข้ามาในวัดใหญ่สุวรรณาราม มิได้เพียงแค่ความร่มเย็น หากแต่เพลิดเพลินจำเริญใจไปกับงานศิลปะทุกแขนงอย่างแท้จริง ทั้ง งานสถาปัตยกรรม จิตรกรรม และประติมากรรมของช่างฝีมือในสมัยก่อน ที่โดดเด่น ทรงคุณค่า และเอกลักษณ์ที่คนรุ่นหลังอย่างเราท่าน พึงควรสืบสานต่อไปเป็นอย่างยิ่ง และนี่คือ เช็คลิสต์ ที่ต้องชมที่วัดใหญ่สุวรรณาราม หากเดินทางมาชื่นชมกันค่ะ
ลายแกะสลักประตูศาลาและรอยขวานพม่าฟันเมื่อปี 2308
ภาพแลลายในศาลาการเปรียญ (ท้องพระโรงสมัยอยุธยา)
ธรรมาสน์ทรงบุษบกสมัยอยุธยา
หอไตร 3 เสากลางน้ำ
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถ
รูปสมเด็จพระสังฆราชแตงโม และพระพุทธรูป 6 นิ้วในพระอุโบสถ
ฝากุฏิ 6 แบบ บ่งบอกเอกลักษณ์ของเรือนไทยสมัยโบราณ
พระเชียงแสน พระคันธารราฐ (อนุญาตให้ปิดทองได้เฉพาะช่วงงานประเพณีสงกรานต์)
เว็จกุฏิหรือส้วมโบราณด้านหลังกุฏิสงฆ์
ดูโปรแกรมท่องเที่ยวที่น่าสนใจ จากลิงค์ด้านล่างได้เลยค่ะ 👇
เตรียมพบกับรายการนั่วรถไฟเที่ยวฉะเชิงเทรา 1 วัน ในเร็วๆนี้
อย่าลืม "กดแอดไลน์" เพื่อรับโปรโมชั่นรายการพิเศษก่อนใคร!
ขอบคุณข้อมูลจาก
Comments