“จันทบุรี” หรือ “เมืองจันท์” หรือ “จันทบูร” จังหวัดเล็กๆ ที่คนเดินทางส่วนมากมักมองเห็นเป็นเมืองทางผ่าน หรือจะเรียกว่า นอกสายตานักท่องเที่ยวก็ว่าได้ หากแต่มิใช่แอดมินนะคะ เพราะแอดมินต้องบอกว่า หลงเสน่ห์เมืองจันทบูรชุมชนเก่าริมแม่น้ำ แห่งนี้ ตั้งแต่ครั้งแรกที่ไปเยือนเมื่อหลายปีก่อนโน้นเลยค่ะ ที่จริงแล้ว เมืองจันทบุรี มีประวัติที่น่าสนใจไม่น้อย มีความเป็นมามิใช่ธรรมดาชวนให้ค้นหา เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยหลายครั้งหลายคราด้วยกัน
ครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2310 หลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน มุ่งไปทาง ฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกและได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีเพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรวบรวมกำลังพลในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า เมื่อท่านมาเยือนเมืองจันท์ จึงจะได้พบกัน ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อันเป็นที่เคารพสักการะเป็นอย่างมากของชาวจันทบูร เคียงข้างกับศาลเจ้าพ่อหลักเมืองของเมืองจันท์แห่งนี้
ครั้งที่สอง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ย้ายเมืองจันทบุรีจากบ้านลุ่ม ไปยังบริเวณค่ายเนินวง เพื่อเตรียมการป้องกันทัพญวนที่จะยกเข้ามาตีทางทะเล ด้วยมีลักษณะเป็นเมืองป้อมปราการมีกำแพงล้อมรอบตั้งเป็นที่มั่นได้ดี แต่ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ย้ายเมืองจันทบุรี จากที่บ้านค่ายเนินวง กลับมาตั้งที่เมืองเก่าที่บ้านลุ่มเหมือนเดิม
ครั้งที่สาม ในปี พ.ศ. 2436 เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ฝรั่งเศสได้ยึดครองจันทบุรีเป็นเวลา 11 ปี ไทยต้องยอมยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเพื่อแลกจันทบุรีกลับคืนมา
ย้อนรอยวันวานอยากให้คุณรู้จัก ชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุประมาณ 300 ปี นับตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงย้ายเมืองจันทบูรจากบ้านหัวตำบลพุงทะลาย มาตั้งที่บ้านลุ่มหรือค่ายตากสิน โดยเรียกขานกันว่า “ชุมชนท่าหลวง”
เดิมเรียกเป็นแถบ “บ้านลุ่ม” อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ตั้งอยู่บนถนนสุขาภิบาล อันเป็นถนนสายแรกของจังหวัดจันทบุรี ที่มีความยาวประมาณ 1 เมตร ส่วนชื่อ "ชุมชนริมน้ำจันทบูร" เป็นชื่อที่ได้มาจากการประกวดตั้งชื่อชุมชน เมื่อปี พ.ศ. 2552 พร้อมมีคติพจน์ที่ว่า “ย้อนวิถีจันท์สร้างสรรค์วิถีไทย”
ชุมชนริมน้ำเป็นการเรียกรวม 3 ชุมชนเข้าด้วยกัน คือ ชุมชนท่าหลวง ชุมชนตลาดกลาง และชุมชนตลาดล่าง มีบ้านเรือนประมาณ 200 หลังคาเรือน ที่สำคัญชุมชนท่าหลวงยังเคยเป็นพื้นที่รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองจันทบุรีหลายครั้ง ครั้งสำคัญคือ เมื่อปี พ.ศ.2419 และ ปี พ.ศ.2450 แต่ละครั้งมีการสร้างศาลาท่าน้ำที่ท่าหลวงเป็นที่รับเสด็จ ที่นี่ได้กลายเป็นศูนย์กลางการค้า มีการติดต่อค้าขายกับชาวไทยและชาวต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นเมืองท่าสำคัญในการลำเลียง ขนส่งสินค้า และการคมนาคม ทำให้มีความเจริญรุ่งเรือง
ผู้คนส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีนและญวนที่อพยพมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำให้พื้นที่นี้ ประกอบด้วยคนไทย จีน และญวน มีวัฒนธรรมที่ผสมปสานกัน จากตะวันตก ไทย จีน และชาวญวน เช่น เรื่องการแต่งกาย ภาษาพูด ศาสนาที่นับถือ คือ ศาสนาพุทธ และคริสต์
ส่วนอาคารบ้านเรือนเป็นเรือนเก่าแก่หลายแบบ ทั้งบ้านริมน้ำแบบไทย ตึกสถาปัตยกรรมแบบยุโรปผสมกับจีน โบสถ์คริสต์อายุกว่า 200 ปี บ้านไม้ทรงหลังคาปั้นหยา เรือนขนมปังขิง บ้านไม้โบราณที่มีการฉลุลายของช่างฝีมือจันทบุรีอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะการจำหลักช่องลม เป็นภาพจำหลัก นูนรูปหัวพยัคฆ์สอดแทรก อยู่ตามกิ่งเครือเถา ความคมของลายที่แอบแฝงความอ่อนช้อย ดึงดูดใจแก่ผู้พบเห็น
หากใครที่ชื่นชอบบรรยากาศแบบเมืองเก่า สไตล์วินเทจ ต้องห้ามพลาดเช็คอินค่ะ รับรองว่าคุณจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซึมซับอารมณ์ละมุนละไม เก็บภาพสวยๆ แชะๆ กันแบบรัวรัวไปเลย โดยสามารถเดินทอดน่องเรื่อยๆ สบายอารมณ์ไปเรื่อยจากเชิงสะพานวัดจันทร์ เป็นแนวไปตลอดจนถึงชุมชนตลาดล่าง
นอกจากนี้ก็ยังมีที่เที่ยวอีกหลายจุด ณ ชุมชนริมน้ำแห่งนี้ เช่น บ้านหลวงราชไมตรี ท่านได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งยางพาราภาคตะวันออก” เป็นผู้นำยางพารามาปลูกเป็นคนแรกในเมืองจันทบุรี ปัจจุบันได้มีการปรับปรุงบ้านไม้แห่งนี้ให้เป็นบ้านพักประวัติศาสตร์หลวงราชไมตรี "Historic Inn" ที่มีความคลาสสิคและความขลังของมนต์เสนห์บ้านเรือนในสมัยเก่า ที่นี่มีอายุราว 150 ปี อันทำให้ได้สัมผัสเรื่องราวอดีตและวิถีชีวิตที่งดงามของชุมชนแห่งนี้
นอกจากนี้ยังมีโรงแรมขนาดเล็กอีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นในแบบวินเทจที่มีผู้คนที่ชื่นชอบความสงบสบายแวะเวียนกันมาพักพิง ที่นี่ยังแฝงไปด้วยความรักของคนท้องถิ่นที่รักที่แห่งนี้ไว้ด้วยกัน หรือจะเป็น บ้าน 69 ศูนย์การเรียนรู้ริมน้ำจันทบูร ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อันเกิดจากการรวมกลุ่มเพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมในชุมชนโบราณแห่งนี้ เป็นบ้านของขุนอนุสรสมบัติ อายุกว่า 100 ปี เป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นปัจจุบันได้เข้าชม มีการรวบรวมประวัติความเป็นมาของย่านเมืองเก่าจันทบุรีจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชน ระหว่างเดินเพลิดเพลินมีขนมไทยอร่อยๆ รวมถึง ขนมโก๋โบราณ ที่หอมชวนรับประทานหรือซื้อเป็นของฝากกลับบ้านแนะนำที่ ร้านขนมแม่กิมเซีย หรือของหัตถกรรมราคาเป็นมิตร และถ้าเมื่อยก็หยุดพักขาที่ร้านกาแฟ หรือ ร้านอาหาร เรียงรายตลอดเส้นทาง มีที่นั่งริมแม่น้ำจันทบูร ลมพัดเอื่อยๆ ให้ชื่นใจ จิบกาแฟหอมกรุ่นร้อนๆ เติมความสดใสก่อนไปต่อ
และหากอยากเติมความเย็นเพิ่มความสดชื่น ขอแนะนำ ร้านไอศกรีมตราจรวด โรงงานผลิตไอศกรีมด้วยเครื่องจักรแห่งแรกของเมืองจันทบุรี เริ่มดำเนินการตั้งแต่พ.ศ.2502 และยังมีไอศกรีมหลากหลายรูปแบบ ทั้งไอศกรีมแท่ง ไอศกรีมตัด ไอศกรีมกะทิสด
หากคุณเดินข้ามสะพานนิรมลมาเรื่อยๆ ก็เจอกับ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิริมล หรือ โบสถ์วัดแม่พระปฏิสนธินิรมลโบสถ์คริสต์ จันทบุรี ที่ใหญ่และสวยงามที่สุดในประเทศไทย กล่าวกันว่ามีอายุกว่า 100 ปีเลย ภายในโบสถ์มีรูปปั้นพระแม่มารีอาประดับพลอย จากความศรัทธาของประชาชนนั้นเอง จากการท่องไปบนถนนเส้นเล็ก ๆ ของชุมชนแห่งนี้ จะได้สัมผัสถึงบรรยากาศในอดีตที่ยังหลงเหลือและเกิดความภาคภูมิใจ
ชุมชนเก่าริมน้ำแห่งนี้เป็นชุมชนที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของความรุ่งเรื่องในอดีต ที่ยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้ได้สัมผัสกับ ความเป็นอดีตที่มีอยู่จริง อีกทั้งชาวชุมชนร่วมกันจรรโลงอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนภายใต้วิสัยทัศน์ “วัฒนธรรมนำการค้า” วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างจิตสำนึกและความสามัคคีชุมชนในการดำรงไว้ซึ่งวิถีชีวิตที่มีคุณค่า ผู้คนในชุมชนต่างร่วมมือกันเพื่อดำรงคุณค่าของวันวานในอดีตให้เป็นอมตะ แบ่งปันความสุข ความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน จนทำให้เราผู้มาเยือนอดยิ้มไม่ได้กับความสุขที่รายล้อมรอบตัวเราที่ได้รับจากชาวชุมชนริมน้ำจันทบูร จนทำให้แอดมินหลงเสน่ห์จันทบูรเลยค่ะ
มาร่วมสัมผัสกับชุมชนริมน้ำจันทบูร และเสน่ห์เมืองจันท์อีกมากมายกับเรา #GetawayHolidays กดลิ้งค์ได้ ที่นี่
Comments